Hot Topic!

คลอดกฎหมายใหม่ ปราบทุจริตสหกรณ์

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 04,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก โพสต์ทูเดย์ - -

 

โดย : สิทธินี ห่วงนาค

 

หลังปรากฏการณ์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เกิดปัญหาการยักยอกทรัพย์นับหมื่นล้าน ได้สร้างความสั่นสะเทือนระบบสหกรณ์ของไทย จนนำมาสู่การยกเครื่องออกกฎหมายสหกรณ์ที่คาดหวังว่าจะสร้างความเข้มแข็งในสหกรณ์ในทุกระดับทั้งขนาดเล็กไม่กี่ล้านบาทและขนาดใหญ่ที่มีธุรกรรมทางการเงินนับแสนล้านบาท

 

พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรม ส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ.สหกรณ์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 3 มาแล้วและรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา สิ่งที่ต้อง เตรียมประกอบด้วย กฎกระทรวง 13 เรื่อง ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ 5 เรื่อง และประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ 1 เรื่อง

 

ทั้งนี้ กฎหมายที่ออกมาเป็นผลจากการนำปัญหาและรับฟังแนวทางแก้ไขปัญหาจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้มีส่วนได้เสีย จนออกมาเป็นกฎหมายที่รอการประกาศในราชกิจจาฯ ซึ่งจะมีผลให้การกำกับดูแลสหกรณ์ของไทยเป็นไปอย่างมีระบบมากขึ้น

 

"บางเรื่องนายทะเบียนสหกรณ์ ซึ่งก็คืออธิบดี ไม่ได้มีอำนาจโดยตรง ได้ปรับให้เหมาะสมขึ้น การกำหนดคุณสมบัติ ผู้มาเป็นกรรมการสหกรณ์ที่มีความรู้จากสาขาอาชีพแท้จริง และการกำหนดให้แต่ละสหกรณ์ต้องแสดงรายละเอียดการเงินสหกรณ์ ให้สมาชิกได้ตรวจสอบ จะเป็นแนวทางที่ทำให้การดูแลสหกรณ์จะไปในแนวทางที่เหมาะสม"

 

อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ การเพิ่มเติม งานกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ เข้ามาด้วย  โดยเพิ่มเป็นหมวดที่ 4/1 ว่าด้วยการดำเนินการและกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ ทั้งนี้ เพื่อให้การกำกับดูแลสามารถที่จะปรับได้ให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไปและเทคนิคในการทุจริตเปลี่ยน กฎหมายนี้จึงให้ไปกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขในกฎกระทรวง ที่อาจกำหนดตามขนาดของสหกรณ์ที่มีความหลากหลาย โดยการออกกฎกระทรวงกฎหมายกำหนดให้กระทรวงเกษตรฯ หารือร่วมกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย

 

โดยเกณฑ์ที่ออกมาในกฎกระทรวงจะประกอบด้วย

 

1.การกำหนดขนาดของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยนฯ

2.การกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามอื่นของกรรมการสหกรณ์และผู้จัดการ

3.การกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์

4.การให้กู้และการให้สินเชื่อ

5.การรับฝากเงิน การก่อหนี้ และการสร้างภาระผูกพัน ซึ่งรวมถึงการกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกัน

6.การลงทุน

7.การดำรงเงินกองทุน

8.การบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง

9.การกำกับดูแลด้าน ธรรมาภิบาล

10.การจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรอง

11.การจัดทำบัญชี การจัดทำและการเปิดเผยงบการเงิน การสอบบัญชี และการแต่งตั้งผู้สอบบัญชี

12.การจัดเก็บและรายงานข้อมูล

13.เรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินงานและการกำดับดูแล

 

นอกจากนั้น กฎหมายยังได้เพิ่มอำนาจให้กับนายทะเบียนสหกรณ์ไว้ด้วย โดยระบุว่า กรณีที่พบว่าคณะกรรมการสหกรณ์ หรือ ผู้จัดการ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามกฎหมาย ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องหรือระงับการดำเนินการได้ หรือหากพบว่าคณะกรรมการสหกรณ์จะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อสหกรณ์ ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการ กรรมการ หรือผู้จัดการ พ้นจากตำแหน่ง หรือสั่งให้เลิกสหกรณ์นั้นๆ

 

"กฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างเข้ม แต่ก็ยืดหยุ่นได้ เนื่องจากการออกเป็นกฎกระทรวงทำให้ฝ่ายบริหารสามารถที่ใช้เป็นเครื่องมือบริหารงานได้ เพราะบางครั้งต้องไปแก้ในชั้นของ สนช. ซึ่งมี ขั้นตอนและเวลามาก แม้กฎหมายจะผ่านขั้นตอนฟังความเห็นหลายครั้ง ก็ยังถูกตำหนิจากกลุ่มสหกรณ์ แต่เพื่อส่วนรวม สุดท้ายผู้แทนของสหกรณ์ที่อยู่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญต่างก็เห็นชอบกับเนื้อหากฎหมายจนสามารถฝ่าออกมาได้และเตรียมบังคับใช้"

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw